Wednesday, March 7, 2012

การปลูกอ้อย คั่นน้ำ

อ้อยที่ปลูกเพื่อคั้นเอาน้ำมาดื่มสด ๆ หากแช่เย็นหรือใส่น้ำแข็ง ก็จะได้รสชาติที่อร่อย หอม หวาน ดื่มในขณะอากาศร้อน ก็จะดับร้อนผ่อนกระหายได้ดี หรือที่เรียกอ้อยประเภทนี้ว่า "อ้อยคั้นน้ำ"

ผู้ปลูกอ้อยคั้นน้ำ กล่าวว่า เกษตรกรปลูกอ้อยคั้นน้ำพันธุ์สิงคโปร์ และพันธุ์เมอริชาร์ท ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้
1,060 กอ โดยใช้ระยะปลูก 1.50 x 1 เมตร หลังปลูก 8 เดือน เริ่มเก็บเกี่ยวได้ เฉลี่ยกอละจำนวน 5 – 6 ลำ จะได้อ้อยอย่างน้อย 5,000 ลำต่อไร่
" ใน 1 ไร่ จะได้อ้อยขั้นต่ำ 5,000 ลำ ขายในพื้นที่ ราคาลำละ 10 บาท เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อไร่ หรือคั้นน้ำอ้อยบรรจุขวดขาย
อ้อย 1 ลำ คั้นน้ำอ้อยได้ 3 – 4 ขวด (ขวด ขนาด 350 ซีซี) ขายขวดละ 10 บาท เท่ากับ 30 – 40 บาทต่อลำ ใน 1 ไร่ จะทำให้มีรายได้ประมาณ 150,000 –
200,000 บาท นอกจากนี้ ยังขายเป็นอ้อยควั่น อ้อย 1 ลำ ขายเป็นอ้อยควั่นได้ 5 – 6 ถุง ๆ ละ 10 บาท นับว่าเป็นรายได้เสริมจากการทำสวนยางพารา
สวนปาล์มน้ำมัน ได้ดีเลยทีเดียว"


นาย พงษ์ศักดิ์ พาคำ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40/2 บ้านหนองแวง ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่อดีตปลูกอ้อยโรงงาน มีรายได้ไร่ละ 5,000 - 6,000 บาท แต่ต่อมาหันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำขาย มีรายได้สูงถึงละ 80,000 บาท

นาย พงษ์ศักดิ์ ได้ปลูกอ้อยคั้นน้ำตั้งแต่ปี 2541 เริ่มจาก 1 งาน และขยายพื้นที่ปลูกทุกปี ปัจจุบันปลูก 15 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10 ตัน /ไร่ ขายผลผลิตได้ 2 ลักษณะ คือ "ขายลำ" ก.ก. ละ 2 บาท อ้อยลำหนึ่ง ได้น้ำหนัก 4 ก.ก. (ลำละ 4 บาท) มีรายได้ไร่ละ 20,000 บาท อีกลักษณะหนึ่งคือ "คั้นน้ำขาย" โดยใช้เครื่องคั้นน้ำติดรถมอเตอร์ไซด์พ่วงไปขายตามที่ต่าง ๆ ทำให้มีรายได้สูงถึงไร่ละ 80,000 บาท

ซึ่งอ้อยคั้นน้ำ นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกร (ไม่ใช่ว่าจะแนะนำให้ปลูกอ้อยคั้นน้ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรทำการเกษตรหลาย ๆ อย่าง จะเป็นการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และลดความเสี่ยงด้านการตลาดและราคาด้วย)

ลักษณะทั่วไป

อ้อยคั้นน้ำเป็นพืชที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำอ้อยพร้อมดื่มมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ของประเทศ สภาพพื้นที่เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง การคมนาคมสะดวก ห่างไกลจากแหล่งมลพิษ ควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนเหนียว ร่วนปนทรายหรือดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ของดินปานกลางขึ้นไป ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.5 – 7.0 และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 30 – 35 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนกระจายสม่ำเสมอ 1,000-1,200 มิลลิเมตรต่อปี และมีแหล่งน้ำเพียงพอ

พันธุ์ที่นิยมปลูก มี 2 พันธุ์

- สุพรรณบุรี 50 ใบสีเขียวเข้ม ลำมีขนาดใหญ่สีเขียวอมเหลือง ปล้องยาวเป็นรูปทรงกระบอก แตกกอ 5-6 ลำต่อกอ ไว้ตอได้ 3-4 ครั้ง ทนทานต่อโรคลำต้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย 4,600-5,200 ลิตรต่อไร่ ความหวาน 15-17 องศาบริกซ์ เหมาะสำหรับปลูกทั้งในสภาพ
ที่ดอนและที่ลุ่ม

- สิงคโปร์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกร อำเภอลาดบัวหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิยมปลูกในอดีต ในสีเขียวอ่อน ลำมีขนาดใหญ่สีเหลืองเข้ม ปล้องสั้นเป็นรูปข้ามต้มหรือป่องกลาง แตกกอ 3-4 ลำต่อกอ ไว้ตอไม่ได้ อ่อนแอต่อโรคลำค้นเน่าแดง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อย 2,100-2,800 ลิตรต่อไร่ ความหวาน 13-15 องศาบริกซ์ เหมาะสำหรับปลูกในสภาพที่ลุ่ม

การเตรียมดิน

- ในสภาพที่ลุ่ม ต้องขุดเป็นรองหรือยกร่อง โดยมีสันร่องกว้าง 5-6 เมตร ความยาวร่องตามขนาดพื้นที่ และให้มีคูน้ำรอบแปลงลึกประมาณ 1 เมตร ในสภาพที่ดอน เป็นการปลูกในพื้นที่ราบจึงควรมีการปรับระดับพื้นที่ให้มีความลาดเอียง ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์

- ถ้าดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า 1.5 เปอร์เซ็นต์ ควรหว่านปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วอัตรา 1,000-2,000 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ

- ไถด้วยผาลสาม 1 ครั้ง ลึก 30-50 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวนด้วยผาลเจ็ด 1-2 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหล ของวัชพืชข้ามปี ออกจากแปลง

- ในสภาพที่ลุ่ม ให้ทำร่องปลูกตามแนวขวางบนสันร่อง ระยะระหว่างร่อง 0.75-1.0 เมตร ในสภาพที่ดอน ระยะระหว่างร่อง

การเตรียมท่อนพันธุ์

จำเป็นต้องเตรียมท่อนพันธุ์ สำหรับใช้ในแปลงพันธุ์และแปลงปลูก โดยมีขั้นตอน ดังนี้

- ใช้ท่อนพันธุ์อายุ 6-8 เดือน จากแหล่งและแปลงที่ไม่มีโรคลำต้นเน่าแดงระบาด หรือจัดทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเตรียมแปลงพันธุ์ 1 ไร่ สำหรับแปลงปลูก 10 ไร่

- ใช้มีตัดลำอ้อยชิดโคน และตัดยอดอ้อยต่ำกว่าคอใบสุดท้ายที่คลี่แล้วประมาณ 20 เซนติเมตร ลอกกาบใบตัดอ้อยเป็นท่อน จำนวน 3 ตาต่อท่อน แล้วนำไปปลูกทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 7 วัน

- ตรวจแปลงพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาดของโรคลำต้นเน่าแดง ต้องขุดกออ้อยออก เผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที

วิธีการปลูก

- ปลูกเป็นแถวเดี่ยวทั้งในแปลงพันธุ์และแปลงปลูก

- วางท่อนพันธุ์ในร่อง ให้มีระยะระหว่างท่อน 50 เซนติเมตร

- กลบดินให้สม่ำเสมอ หนา 3-5 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์สุพรรณบุรี 50 และหนา 1-2 เซนติเมตร สำหรับพันธุ์สิงคโปร์

การให้ปุ๋ย

- ให้ปุ๋ยเคมีหลังปลูก หรือหลังแต่งตออ้อย 2 ครั้ง

ดินร่วน ดินร่วนเหนียว หรือ ดินเหนียว ให้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 ครั้งแรกเมื่ออายุ 1 เดือน อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 40 กิโลกรัมต่อไร่

ดินร่วนปนทราย ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ครั้งแรกพร้อมปลูก อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ ครั้งที่สองเมื่ออายุ 3 เดือน อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่

- ในอ้อยปลูก ให้ปุ๋ยแบบโรยเป็นแถวข้างกออ้อยแล้วพรวนกลบ ในอ้อยตอ ให้ฝังกลบปุ๋ยห่างจากกออ้อย 10-15 เซนติเมตร


การให้น้ำ

- ให้น้ำทันทีหลังปลูก เพื่อให้อ้อยงอกสม่ำเสมอ หลังจากนั้นให้น้ำทุก 2-3 สัปดาห์

ในสภาพที่ลุ่ม ให้น้ำโดยการตักน้ำสาดหรือใช้เครื่องสูบน้ำวางลงในเรือขนาดเล็ก สูบน้ำจากร่อง

ในสภาพที่ดอน ให้น้ำประมาณครึ่งร่อง โดยไม่ต้องระบายน้ำออก

- งดให้น้ำ 2 สัปดาห์ก่อนเก็บเกี่ยว ถ้าในช่วงเก็บเกี่ยวมีฝนตกหนัก ต้องระบายน้ำออกจากร่องทันทีให้เหลือไม่เกินครึ่งร่อง


ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

- เก็บเกี่ยวอ้อยที่อายุประมาณ 8 เดือน

- น้ำอ้อยมีความหวาน 13-17 องศาบริกซ์

- ลำอ้อยมีความยาวไม่น้อยกว่า 2 เมตร

- ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเข้าหรือเย็น ขณะที่อากาศไม่ร้อนจัด

วิธีการเก็บเกี่ยว

- ตัดเฉพาะลำอ้อยที่มีอายุ 8 เดือน สังเกตได้คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 50 จะมีลำสีเขียวอมเหลือง สำหรับพันธุ์สิงคโปร์ จะมีสีเหลืองเข้ม

- ใช้มีดถากใบและกาบออกทั้งสองด้าน อย่าให้เปลือกหรือลำเสียหาย ตัดลำอ้อยชิดดิน แล้วตัดยอดอ้อยต่ำกว่าจุดคอใบประมาณ 25 เซนติเมตร วางบนแคร่หรือพื้นที่สะอาด ห้ามวางบนพื้นดิน

ใช้ยอดอ้อยหรือเชือกฟางมัดโคนและปลายลำอ้อย มัดละ 10 ลำ แล้วใส่รถบรรทุกนำส่ง
ให้ลูกค้าทันที หรือนำไปไว้ในที่ร่มเพื่อเตรียมจัดส่ง

การปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

- ลำอ้อยที่ตัดแล้วควรนำไปส่งขายทันที

- ถ้ายังไม่นำไปคั้นน้ำ สามารถเก็บลำอ้อยไว้ในที่ร่ม ที่มีการถ่ายเทอากาศดี ได้นาน ประมาณ 7 วัน โดยคุณภาพน้ำอ้อย คือ สีและความหวานไม่เปลี่ยนแปลง

- สถานที่เก็บลำอ้อยต้องสะอาด ห่างไกลจากสัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ยเคมี และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช

- รถบรรทุกอ้อยต้องสะอาด และเหมาะสมกับปริมาณอ้อย ไม่ควรเป็นรถที่ใช้บรรทุกดิน สัตว์ มูลสัตว์ ปุ๋ยเคมี และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพราะอาจมีการปนเปื้อน ยกเว้น จะมีการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ก่อนนำมาบรรทุกอ้อยคั้นน้ำ

- การขนอ้อยขึ้นรถ ควรมีคนรับอ้อยบนรถ ห้ามโยน เพราะจะทำลำอ้อยช้ำ คุณภาพน้ำอ้อยเสีย

- ควรจัดส่งอ้อยในช่วงเช้าหรือเย็น เพราะถ้าอ้อยได้รับความร้อนสูงเกินไป จะมีผลเสียต่อคุณภาพน้ำอ้อย

No comments: